นี่คือ ชายเจ้าของผลงานรองเท้าสตั๊ดลายมังงะของ บาการี่ ซาโก้ แต่นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น!
จากสนีกเกอร์สู่รองเท้าสตั๊ด
จากความติสต์ของตัวเองในการแต่งรองเท้าสนีกเกอร์เนื่องจากไม่ชอบสีของมัน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับเข้าท่า มันเลยงอกออกมาจาก 1 คู่เป็น 2, จาก 2 เป็น 5 จาก 5 เป็น 10 เขาจึงตัดสินใจออกจากงานประจำที่ Foot Locker มาทำเป็นกิจจะลักษณะกับภรรยา 2 คนซะเลย
“ผมเริ่มทำเป็นงานอดิเรกตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปี 2007 ก็ตัดสินใจออกมาตั้ง Orravan Design ซึ่งหลังจากที่เปิดบริษัทได้ไม่นาน ผมก็ได้พบกับ ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา แต่หนแรกที่ผมทำให้เขาไม่ใช่รองเท้าฟุตบอลนะ อยู่มาวันหนึ่ง เขาก็มาขอให้ผมแตกแต่งลวดลายบนสตั๊ดของเขาในเกมแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ รอบคัดเลือก ซึ่งแมตช์นั้นเป็นแมตช์พิเศษเพราะมีการย้ายสถานที่แข่งจากอบิดจันไปเป็นบูอาเก้ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายกบฏ เขาเลยอยากให้ผมทำลายพิเศษขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงการกลับมาเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้งของชาวไอวอรี่โคสต์” ปิแอร์ นาวาร์โร่ ชายชาวฝรั่งเศสผู้ก่อตั้ง Orravan Design กล่าวกับ Foot Pack เว็บไซต์เกี่ยวกับรองเท้าสตั๊ดชื่อดังแดนน้ำหอม ซึ่งชื่อของมันมาจากการเขียนนามสกุลของตัวเขาแบบย้อนหลังนั่นเอง
และแน่นอนว่าจากผลงานสุดปังตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้มีลูกค้าระดับเซเล็บเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ชนิดที่ว่าบอกกันปากต่อปาก โดยเฉพาะบรรดาพ่อค้าแข้งชื่อดัง “ตอนนี้ก็มีอยู่ราว 120 คนนะหากจะนับรวมพวกรองเท้าประเภทอื่นไปด้วย แต่ถ้านับเฉพาะที่เป็นรองเท้าสตั๊ดก็จะเหลือราวๆ 40 คนได้มั้ง”
ซึ่ง บาการี่ ซาโก้ ไม่ใช่ลูกค้าลายแรก ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นลายมังงะ เพราะหากใครยังจำกันได้ รองเท้าลาย “กัปตันซึบาสะ” ของ ลูคัส โพดอลสกี้ ก็มาจากฝีมือของเขา รวมถึงสตั๊ดที่มีแสงระยิบระยับของ ปิแอร์ เอเมอริค โอบาเมย็อง หลายต่อหลายคู่นั่นก็เป็นไอเดียของนาวาร์โร่เช่นกัน อ้อ แล้วยังมีตัวที่ฝังคริสตัลของ มามาดู ซาโก้ กองหลังของคริสตัล พาเลซด้วย
เป็นผลงานของไนกี้?
“คนส่วนใหญ่คิดว่าไอเดียพวกนี้มาจากไนกี้ ไม่ใช่ศิลปินตัวเล็กๆอย่างผม แต่ใครก็ตามที่เป็นแฟนตัวยงของโอบาเมย็องก็จะรู้เลยว่ามันมาจาก Orravan Design เพราะเราทำให้เขาตั้งแต่ยังไม่ดัง ซึ่งเราก็ไม่โทษเขาหรอก เพราะเราก็ไม่ได้มีแบรนด์ของตัวเอง ที่คนจำได้ส่วนใหญ่ก็เพราะมันมีโลโก้ของไนกี้ติดอยู่” นาวาร์โร่อธิบาย
“จริงๆแล้ว เราก็เคยร่วมงานกับอาดิดาสเมื่อปี 2015 ในการรับออกแบบลวดลายให้ลูกค้าที่ร้านแถว Champs Elysees เป็นเวลา 3 สัปดาห์ แล้วก็เคยทำให้กับแบรนด์คัปป้าด้วย”
โดยในเรื่องของระยะเวลาในการทำนั้น นาวาร์โร่บอกว่า “มันขึ้นอยู่กับชิ้นงาน อย่างตอนที่ทำให้อาดิดาสก็จะใช้เวลา 15 นาทีต่อคู่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความยากด้วย บางทีก็ใช้เวลาเป็นวันหรือสัปดาห์ ซึ่งเราไม่ใช่ผู้ผลิตที่จะทำได้ออกมาทีละเยอะๆ เป้าหมายของเราคือผลงานและการใส่ไอเดียลงไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เอกลักษณ์ของเราคือการสร้างความแตกต่าง”
“บางครั้งผลงานจะดีได้ก็ขึ้นอยู่กับงบด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าได้วัตถุดิบที่ดีมันก็จะออกมาดีกว่า เราไม่ได้เน้นไปที่เชิงพาณิชย์ เพราะเป้าหมายของเราก็คือการทำตามความต้องการของลูกค้ามากกว่า นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงละเอียดอ่อนกับสิ่งที่ทำ”
หลายคนคงสงสัยว่า งานดีขนาดนี้ เขาได้ร่ำเรียนอะไรมาหรือไม่? เจ้าตัวตอบว่า “ผมเน้นไปที่การเรียนรู้ด้วยตัวเองนะ จริงอยู่ที่ผมเคยไปเรียนเนื่องจากเพื่อนผมที่เรียนโรงเรียนศิลปะบอกมา แต่สุดท้ายการแก้ปัญหาก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์อยู่ดี เพราะสิ่งที่โรงเรียนสอนมันสอนได้เฉพาะเทคนิคเท่านั้น ดังนั้นผมจึงใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ตัวเองมีอยู่ แล้วอาศัยการผสมผสานเทคนิคหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน”